ชีวประวัติ มิสฟลอเรนซ์ ไนติงเกล
พยาบาลชาวอังกฤษ ผู้ก่อตั้งโรงเรียนพยาบาลแผนใหม่ขึ้นเป็นแห่งแรกที่โรงพยาบาลเซนต์โธมัส ลอนดอน เมื่อปี ค.ศ. 1860 จัดการสอนที่เป็นระบบโดยใช้วิทยาศาสตร์เป็นพื้นฐานเรียกว่า “ระบบพยาบาลไนติงเกล” ที่ได้รับความนิยมนำไปใช้แพร่หลายทั่วโลก
ชีวิตในวัยเยาว์
มิสฟลอเรนซ์ ไนติงเกล เกิดเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม ค.ศ. 1820 ที่เมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี ในครอบครัวชาวอังกฤษผู้มีฐานะดี
บิดาชื่อ วิลเลี่ยม เอ็ดเวิร์ด ไนติงเกล สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเคมบริดส์ มารดาชื่อ แฟนซิส สมิธ ไนติงเกล
เป็นลูกสาวพ่อค้าที่มีฐานะดี มิสไนติงเกลพี่สาวหนึ่งคน ชื่อ พาร์ธีนอพ ไนติงเกล
ซึ่งต่อมาภายหลังได้สมรสกับเซอร์ แฮรี่ เวอร์เน่ จึงเปลี่ยนเป็น เลดี้เวอร์เน่
มิสไนติงเกลเกิดในยุควิคตอเรียที่กุลสตรีชั้นสูงได้รับการเตรียมในครอบครัวให้เป็นผู้มีความพร้อมสำหรับการแต่งงานกับชนชั้นสูงด้วยกัน
เพื่อทำหน้าที่ภรรยาและมารดาที่ดีต่อไป แต่ท่านไม่ต้องการสังคมในแบบนั้น จึงได้พยายามศึกษาหาความรู้จากบิดาด้วยการเรียนรู้ภายในครอบครัว
จนกระทั่งมีความรอบรู้วิชาการต่างๆ เป็นอย่างดีและพูดได้ดีถึง 6 ภาษา ท่านเป็นผู้ที่มีความศรัทธาแรงกล้าในศาสนาและไม่ประสงค์จะแต่งงาน
แต่ต้องการทำความดีแก่มวลมนุษย์เพื่ออุทิศเป็นกุศลถวายแด่พระผู้เป็นเจ้ามากกว่า จึงได้พยายามแสวงหาวิธีการที่จะสามารถใช้เป็นประโยชน์
แก่คนส่วนใหญ่ของประเทศในขณะนั้น และพบว่าการเป็นพยาบาลน่าจะเป็นวิธีการที่เหมาะสมมากกว่าวิธีอื่น
ดังนั้นจึงพยายามที่จะศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับการพยาบาลให้เพิ่มมากขึ้น แต่ในขณะนั้นเป็นยุคที่การพยาบาลอยู่ในฐานะตกต่ำอย่างมาก
ทำให้ไม่มีกุลสตรีเข้ามาเป็นพยาบาล และมิสไนติงเกลก็ไม่ได้รับอนุญาตจากครอบครัวให้ไปเป็นพยาบาลเช่นกัน
จึงได้แต่เพียงจัดเตรียมยาและอาหารไปให้ความช่วยเหลือดูแลประชาชนที่เจ็บป่วยทุกข์ยากซึ่งอาศัยอยู่บริเวณรอบๆ คฤหาสน์ที่อยู่อาศัย
ถือเป็นการทำกุศลอย่างหนึ่งของกุลสตรีชั้นสูงในขณะนั้น ซึ่งท่านก็พบว่าเป็นงานที่ทำได้อยู่ในเพียงวงจำกัดเท่านั้น
จนกระทั่งหลายปีต่อมาเมื่อมิสไนติงเกลมีอายุมากขึ้นถึง 31 ปี จึงได้พยายามขออนุญาตจากครอบครัวอีกครั้งหนึ่ง
ซึ่งก็เป็นโอกาสดีที่ได้รับอนุญาตให้ทำตามความต้องการได้ โดยได้วางแผนเดินทางไปแสวงหาประสบการณ์ในการเป็นพยาบาล
กับคณะแม่ชีพยาบาลดีคอนเนสที่รับดูแลเด็กกำพร้าที่สถานรับเลี้ยงเด็กกำพร้าไครเซอร์เวิร์ธประเทศเยอรมัน
โดยใช้เวลาประมาณ 3 เดือนเศษ และได้ขอศึกษาดูงานการบริหารจัดการโรงพยาบาลบางแห่งในประเทศฝรั่งเศส
ระหว่างเดินทางกลับประเทศอังกฤษ
การประกอบอาชีพการพยาบาล
เมื่อมิสไนติงเกลเดินทางกลับถึงอังกฤษได้วางแผนการทำงานทันที แต่พบว่าบิดาเกิดป่วยกะทันหัน
จึงต้องอยู่ดูแลประมาณปีเศษจนกระทั่งอาการป่วยของบิดาทุเลา จึงนับเป็นโอกาสอันดีที่ช่วยให้บิดามีความเข้าใจ
และเห็นคุณค่าที่แท้จริงของการพยาบาลตามที่ท่านได้ตัดสินใจเลือกเป็นอาชีพ
ต่อจากนั้นมิสไนติงเกลจึงขออนุญาตครอบครัวไปเริ่มทำงานการพยาบาลที่สถานพยาบาลสำหรับกุลสตรีชั้นสูง
ที่เจ็บป่วยในกรุงลอนดอน และมีผลงานดีเด่นจนกระทั่งได้รับการยกย่องทั่วไป ในด้านการเอาใจใส่ผู้ป่วย
และจัดสิ่งแวดล้อมที่ถูกสุขลักษณะจนประสบความสำเร็จในการดูแลผู้ป่วยอหิวาตกโลกในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในลอนดอน
ทำให้เริ่มมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมมากขึ้นทั่วไปในประเทศอังกฤษ
ขณะเดียวกันในปี ค.ศ. 1853 ได้เกิดสงครามไครเมียซึ่งทหารอังกฤษถูกส่งไปช่วยพันธมิตรคือออตโตมัน (ตุรกี) รบกับรัสเซีย
ผลของสงครามทำให้ทหารอังกฤษจำนวนมากเจ็บป่วยและล้มตายจากโรคระบาดคืออหิวาตกโลก
ทำให้ลอร์ดซิสนี่ เฮอร์เบิร์ท เสนาธิการกลาโหมของอังกฤษขอความช่วยเหลือจากมิสไนติงเกลให้จัดหาพยาบาลไปทำงานในกองทัพ
ที่สนามรบในสงครามไครเมีย มิสไนติงเกลเห็นเป็นโอกาสอันดีที่จะได้แสดงให้โลกประจักษ์ในคุณค่าที่ยิ่งใหญ่ของการพยาบาล
จึงให้ความช่วยเหลือโดยคัดเลือกสตรีที่มีคุณสมบัติเหมาะสมและอาสาสมัครไปทำงานเป็นพยาบาลในกองทัพซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อน
ดังนั้นในปี ค.ศ. 1854 มิสไนติงเกลพร้อมด้วยสตรีอีก 34 คนออกเดินทางจากอังกฤษไปยังตุรกีและเข้าทำงานเป็นพยาบาล
ในโรงพยาบาลค่ายทหารที่สะคูตารี่ตุรกี ซึ่งตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามบริเวณที่มีการสู้รบคือแหลมไครเมีย เมื่อมีทหารบาดเจ็บ
หรือล้มป่วยจากการสู้รบก็จะขนย้ายทางเรือข้ามทะเลดำมายังโรงพยาบาลค่ายทหารแห่งนี้
มิสไนติงเกลและคณะได้ทุ่มเทดูแลทหารที่เจ็บป่วยเป็นอย่างดีและศึกษาสถิติทำให้พบว่าสาเหตุการตายของทหาร
จากการติดเชื้อมากกว่าจากการสู้รบ ดังนั้นจึงได้พยายามปรับปรุงสุขอนามัยของโรงพยาบาลและค่ายทหารทำให้อัตราการตาย
ของทหารลดลงอย่างรวดเร็วจากร้อยละ 42 เหลือเพียงร้อยละ 2 ภายในเวลา 6 เดือน
เป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ซึ่งรัฐบาลอังกฤษและครอบครัวทหารต่างชื่นชมยินดีอย่างมาก
ทุกฝ่ายจึงร่วมใจกันก่อตั้งกองทุนไนติงเกลเพื่อมอบให้เป็นของขวัญตอบแทนเมื่อสงครามสงบลง
โรงเรียนพยาบาลแห่งแรก
เมื่อสงครามสงบลงในปี ค.ศ. 1856 มิสไนติงเกลเดินทางกลับประเทศอังกฤษและได้รับเงินกองทุนไนติงเกลเป็นของขวัญ
เพื่อใช้ในการก่อตั้งโรงเรียนพยาบาล แต่ยังไม่มีเวลาเพียงพอที่จะดำเนินการเนื่องจากมีงานด่วนที่ต้องทำ
คือการเขียนรายงานข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลในการปรับปรุงระบบสุขอนามัยของกองทัพ การก่อตั้งโรงพยาบาลทหาร
เพื่อให้ทหารที่บาดเจ็บพิการได้กลับมาพักฟื้นฟูสุขภาพ แต่งตำราการบริหารจัดการโรงพยาบาลและตำราทางการพยาบาล
ประกอบกับการมีสุขภาพเสื่อมโทรมและเจ็บป่วยจากการทำงานหนักในโรงพยาบาลค่ายทหารมาก่อน
จึงทำให้การใช้เงินกองทุนไนติงเกลเพื่อก่อตั้งโรงเรียนพยาบาลแห่งแรกมีความล่าช้า จนกระทั่ง ค.ศ. 1860
จึงสามารถเริ่มเปิดการสอน โรงเรียนพยาบาลไนติงเกลที่โรงพยาบาลเซนต์โธมัส ริมแม่น้ำเทมส์ กรุงลอนดอน
ซึ่งถือว่าเป็นโรงเรียนพยาบาลแห่งแรกที่มีระบบการเรียนการสอนที่ชัดเจน ดำเนินการอิสระแยกจากโรงพยาบาล
มีหอพักและอาคารเรียนเฉพาะนักศึกษาพยาบาลเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก
จึงมีผู้สนใจนำไปเป็นต้นแบบของการผลิตพยาบาลทั่วโลกในเวลาต่อมา
มิสไนติงเกลกลายเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงแผ่กระจายไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว ในฐานะ
“สุภาพสตรีแห่งดวงประทีปผู้ก่อกำเนิดการพยาบาลแผนใหม่” กวีนักประพันธ์นักแต่งเพลงและนักดนตรี
ต่างจัดทำบทประพันธ์ที่เกี่ยวข้องเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก โดยมีการนำชีวประวัติและผลงานไปจัดทำเป็นภาพยนตร์เผยแพร่ทั่วโลก
มากถึง 4 เรื่อง ทำให้สังคมเกิดความนิยมคลั่งไคล้การเป็นพยาบาล จึงมีผลอย่างมากต่อการส่งเสริมให้กุลสตรีชั้นสูง
ให้ความสนใจต่อการมาเป็นพยาบาลเพิ่มมากขึ้นอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ถือเป็นพระคุณอย่างสูงที่ความเสียสละ
และทุ่มเทในการทำงานของท่านส่งผลดีต่อวิชาชีพการพยาบาลอย่างอเนกอนันต์
และได้พัฒนาเพิ่มมากขึ้นโดยลำดับอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
ชีวิตบั้นปลาย
สืบเนื่องจากการทำงานหนักในสงครามไครเมีย ทำให้มิสไนติงเกลมีสุขภาพไม่แข็งแรงเกิดการเจ็บป่วยเป็นระยะๆ อยู่เสมอ
บางครั้งมีอาการรุนแรงต้องพักรักษาตัวอยู่กับเตียงเป็นเวลานานจนคิดว่าอาจจะถึงแก่ชีวิต ทำให้การวางแผนทำงานต่างๆ
ทุกอย่างต้องคิดและตัดสินใจที่รอบคอบมากขึ้น โดยพิจารณาถึงผู้ที่จะดำเนินการแทนได้หากปราศจากตนเองแล้ว
เพื่อให้งานสำคัญทุกอย่างมีความมั่นคงและไม่เกิดความล้มเหลว โดยในส่วนของกองทุนไนติงเกล
ได้จัดตั้งคณะกรรมการกองทุนขึ้นรับผิดชอบโดยเฉพาะเพื่อให้สามารถควบคุมการใช้จ่ายเงินอย่างระมัดระวัง
และเป็นไปตามวัตถุประสงค์หลักของกองทุนอย่างเคร่งครัด ส่วนโรงเรียนพยาบาลไนติงเกลได้แต่งตั้งผู้อำนวยการโรงเรียน
อาจารย์แม่บ้านและคณะอาจารย์ผู้สอนทั้งที่เป็นอาจารย์แพทย์และอาจารย์พยาบาลช่วยกันรับผิดชอบ
ส่วนตนเองจะคอยควบคุมดูแลทั่วไปอยู่ห่างๆ และคอยให้ข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น
ขณะที่มิสไนติงเกลอายุมากขึ้นและยังคงมีสุขภาพทรุดโทรม ดังนั้นการทำงานส่วนใหญ่จึงต้องทำบนเตียงนอน
อย่างไรก็ตามได้มีบุคคลจำนวนมากที่เห็นคุณค่าและความสำคัญจึงมาขอคำแนะนำที่เตียงเป็นประจำโดย
เฉพาะนายแพทย์ผู้อำนวยการโรงพยาบาลที่ต้องการคำแนะนำเกี่ยวกับการปรับปรุงสุขาภิบาลและสิ่งแวดล้อมในโรงพยาบาล
รวมทั้งนักสถิติที่ต้องการศึกษาความรู้เกี่ยวกับสถิติชีพที่ท่านมีความชำนาญเป็นพิเศษ ท่านจึงมีความยินดีและเต็มใจอย่างยิ่ง
ที่จะแบ่งปันความรู้เพื่อช่วยเหลือผู้อื่น และได้ใช้ความพยายามอย่างมากในการจัดทำโครงการปรับปรุงสุขอนามัยของทหาร
และประชาชนในประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อประเทศที่มีพลเมืองจำนวนมากและมีฐานะยากจนเช่นนั้นในเวลาต่อมา
มรณกรรมและมรดกที่มอบไว้
มิสไนติงเกลได้ทำงานถวายควีนวิคตอเรียตลอดเวลาครองราชย์ที่ยาวนานของพระองค์ ซึ่งทำให้พระองค์ทรงชื่นชม
และพระราชทานกำลังใจรวมทั้งพระราชทานของขวัญหลายครั้ง กระทั่งพระองค์สิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 1901
เจ้าฟ้าชายเอ็ดเวิร์ดขึ้นครองราชย์เป็น พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 ทรงเห็นความสำคัญของมิสไนติงเกลในการทำงานเสียสละ
เพื่อชาติตลอดมา จึงทรงให้ผู้แทนพระองค์นำเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงที่ไม่เคยพระราชทานแก่สตรีผู้ใดมาก่อน
มาพระราชทานให้ท่านที่เตียงนอน ซึ่งขณะนั้นมิสไนติงเกลมีอายุค่อนข้างมากและสูญเสียสายตาทั้งสองข้าง
ต่อมาวันที่ 13 สิงหาคม ค.ศ. 1910 ขณะที่มิสไนติงเกลอายุ 90 ปีเศษ มีอาการป่วยต่อเนื่องและไม่ค่อยรู้สึกตัว
บุคคลใกล้ชิดรอบข้างได้พยายามให้การดูแลเป็นอย่างดี ในที่สุดก็จากไปด้วยความสงบโดยทิ้งพินัยกรรมไว้ว่าให้งดจัดพิธีศพ
ที่ยิ่งใหญ่ตามธรรมเนียมที่รัฐบาลกำหนดไว้แต่ให้จัดพิธีเคารพศพเสร็จแล้วให้นำศพเดินทางไปฝัง ณ สุสานของครอบครัว
ที่เมืองแฮมเชียร์ ทุกคนจึงปฏิบัติตามความประสงค์สุดท้ายที่ได้กำหนดไว้เป็นที่เรียบร้อย ต่อมาภายหลังคณะศิษย์
และผู้ที่ศรัทธาในผลงานของท่านได้ร่วมกันก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล ที่ด้านหน้าของโรงพยาบาลเซนต์โธมัส
กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เพื่อรวมรวมเอกสารหลักฐานและผลงานต่างๆ ไว้ให้ได้ศึกษาค้นคว้าสืบไป
แม้ว่ามิสฟลอเรนซ์ ไนติงเกล จากไปเป็นเวลานานเกิน 150 ปี แต่ได้มอบชีวประวัติและผลงานอันเป็นมรดกล้ำค่า
ไว้ให้แก่อนุชนรุ่นหลังโดยเฉพาะผู้ที่ดำเนินอาชีพการพยาบาล ในการสานต่อเจตนารมณ์ในการดูแลสุขภาพอนามัย
ของมวลมนุษย์ไม่ว่าเชื้อชาติศาสนาใดๆ ทั้งที่สุขภาพดีและเจ็บป่วย โดยการทำงานด้วยดวงจิตที่บริสุทธิ์
เต็มไปด้วยเมตตาธรรมอยู่ตลอดเวลาดั่งเช่นที่ท่านได้กระทำเสมอมา