พระราชประวัติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

RB-02

 สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี  สำเร็จการศึกษาพยาบาลจากโรงเรียนพยาบาลศิริราช  ทรงช่วยเหลือสมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทย ตลอดมาและรับไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์  ทรงมอบหมายให้สมาคมฯดูแลโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนที่จังหวัดน่าน   พระราชทานชื่อว่า “โรงเรียนสมาคมพยาบาลไทย” สมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทยร่วมกับสภาการพยาบาล ได้ขอพระบรมราชานุญาตให้วันพระราชสมภพ  วันที่ 21 ตุลาคม เป็น “วันพยาบาลแห่งชาติ” และก่อตั้ง“รางวัลสมเด็จพระศรีนครินทร์”  เพื่อมอบให้ผู้นำการพยาบาลทั่วโลกที่มีผลงานดีเด่น

 

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พระนามเดิม นางสาวสังวาลย์  ตะละภัฎ พระราชสมภพเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2443 สวรรคตเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 พระชนมายุ 94 ปี บิดา พระชนกชู ชูกมลและมารดา พระชนนีคำ ชูกมล อภิเษกสมรสกับ สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล มีพระราชโอรสธิดา 3 พระองค์คือ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์  พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร (รัชกาลที่ 8)  และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9)

      เนื่องด้วยพระชนนีคำเป็นสตรีที่รู้หนังสือซึ่งหาได้ยากในสมัยนั้นจึงสามารถสอนให้พระองค์เกิดอุปนิสัยที่ชอบการเรียนรู้และอ่านหนังสือได้ตั้งแต่ทรงพระเยาว์ กอร์ปกับพระสติปัญญาจึงทำให้พระองค์เป็นผู้ที่มีไหวพริบและเฉลียวฉลาด ทรงถวายตัวเป็นข้าหลวงในสมเด็จเจ้าฟ้าวไลอลงกรณ์ พระเชษฐภคินีในสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ทรงเข้ารับการศึกษาเบื้องต้นที่โรงเรียนศึกษานารีและย้ายไปเรียนต่อที่โรงเรียนสตรีวิทยา ก่อนที่จะตัดสินพระทัยเข้าศึกษาวิชาการพยาบาลที่โรงเรียนหญิงแพทย์ผดุงครรภ์แลการพยาบาลไข้ของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ณ โรงพยาบาลศิริราชเมื่อปี พ.ศ. 2456  ตามคำชักชวนของพระยาดำรงแพทยกุล หลังจากสำเร็จการศึกษา ทรงได้รับการคัดเลือกพร้อมกับนางสาวอุบล ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา ให้ได้รับทุนไปศึกษาต่อวิชาการพยาบาลที่ Simmon College เมืองบอสตัน สหรัฐอเมริกา ซึ่งขณะนั้นสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ทรงศึกษาวิชาการแพทย์ชั้นปีที่ 1 ที่โรงเรียนแพทย์มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เมืองบอสตัน อยู่ก่อนแล้ว

     สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลทรงพอพระทัยในพระสิริโฉมและพระอุปนิสัยของนางสาวสังวาลย์ จึงทรงทำพิธีขอหมั้นและเสด็จกลับมาทำพิธีอภิเษกสมรสที่วังสระปทุมเมื่อวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2463 พระนามของพระองค์จึงเปลี่ยนเป็น หม่อมศรีสังวาลย์ มหิดล เสร็จแล้วจึงกลับไปทรงศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกาตามเดิม และประสูติพระราชธิดาพระองค์แรก เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2466 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานนามว่า หม่อมเจ้ากัลยาณิวัฒนา มหิดล ภายหลังจากนั้นสองปีทรงประสูติพระราชโอรสพระองค์แรก เมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2468 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระนามว่า หม่อมเจ้าอานันทมหิดล มหิดล  ต่อมาในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2470 ทรงประสูติพระราชโอรสพระองค์ที่ 2 ได้รับพระราชทานนามจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภูมิพลอดุลยเดช โดยทรงอบรมเลี้ยงดูพระราชโอรสธิดาอย่างใกล้ชิดด้วยพระองค์เอง

     ขณะที่สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลทรงศึกษาวิชาแพทย์ปีสุดท้ายอยู่ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ทรงประชวรโรคพระวักกะกำเริบและพระโรคหวัดแต่ก็ยังทรงสามารถสอบได้ปริญญาแพทยศาสตร์ ขั้นเกียรตินิยม  หลังจากสอบเสร็จทั้งสองพระองค์ได้พาพระราชโอรสธิดาเดินทางกลับประเทศไทย โดยประทับที่พระตำหนักใหม่สร้างขึ้นในวังสระปทุมถนนพญาไท 

     เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2472 สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลทรงรับเชิญเป็นแพทย์ประจำบ้านที่โรงพยาบาลแมคคอร์มิค จังหวัดเชียงใหม่ ในเดือนต่อมาก็เสด็จกลับกรุงเทพมหานคร หลังจากนั้นก็ทรงพระประชวรอยู่เป็นระยะเวลาประมาณ 4 เดือน และสิ้นพระชนม์ เมื่อวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2472 ที่พระตำหนักใหม่ วังสระปทุม ขณะนั้นหม่อมศรีสังวาลย์  มหิดลมีพระชนมายุเพียง 29 ปี  ทรงต้องรับหน้าที่อบรมเลี้ยงดูพระราชโอรสธิดาทั้งสามพระองค์ตามลำพัง จนกระทั่ง วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในประเทศไทย สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าจึงทรงแนะให้หม่อมศรีสังวาลย์พาพระราชนัดดาทั้ง 3 พระองค์ เสด็จไปศึกษาต่อที่เมืองโลซานประเทศสวิตเซอร์แลนด์

     ต่อมาวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) ทรงสละราชสมบัติ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้มีมติเห็นชอบตามกฎมณเฑียรบาลให้ทูลเชิญ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล เป็นพระมหากษัตริย์ทรงพระนามว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ซึ่งในขณะนั้นพระองค์มีพระชนมายุเพียง 9 พรรษา หลังสืบราชสมบัติ สภาผู้แทนราษฎรจึงได้มีมติแต่งตั้งคณะบุคคล 3 คน ประกอบด้วย พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุวัตรจาตุรนต์พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา และเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) เป็นคณะผู้สำเร็จราชการแทน  ด้วยเหตุนี้พระนามของหม่อมศรีสังวาลย์ มหิดล ณ อยุธยา จึงเปลี่ยนเป็น สมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์ พระองค์ต้องทรงย้ายไปประทับที่บ้านเช่าขนาดใหญ่ที่เมืองปุยยี ใกล้กับเมืองโลซาน เพื่อให้สมพระเกียรติของพระราชโอรส ทรงตั้งชื่อพระตำหนักใหม่ว่า “วิลล่าวัฒนา”

     ในปี พ.ศ. 2481 สมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์ พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาและสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช ได้เสด็จนิวัติประเทศไทย เพื่อทรงเยี่ยมเยียนพสกนิกรเป็นครั้งแรกโดยประทับอยู่ในพระนครเป็นเวลากว่า 2 เดือน และเสด็จกลับไปทรงศึกษาต่อที่สวิสเซอร์แลนด์เช่นเดิม

     ต่อมาในปี พ.ศ. 2488  พระองค์และครอบครัวเสด็จนิวัติประเทศไทยอีกครั้งหนึ่งและมีกำหนดกลับไปศึกษาต่อในวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2489  แต่ได้เกิดความสูญเสียที่สำคัญอีกครั้งด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลสิ้นพระชนม์อย่างกะทันหันด้วยพระแสงปืน เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489  และพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดชได้รับการสถาปนาให้เป็นพระมหากษัตริย์องค์ต่อมา ทรงพระนามว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ และทรงเฉลิมพระเกียรติยศสมเด็จพระราชมารดาเป็น สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี จนกระทั่งสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2538

     ตลอดพระชนม์ชีพ พระองค์ได้ทรงประกอบพระราชกรณียกิจจำนวนมากอันเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อประเทศชาติและประชาชน จึงได้รับการถวายพระสมัญญานามว่า แม่ฟ้าหลวงเพื่อแสดงให้เห็นถึงพระเมตตาของพระองค์ที่หลั่งจากฟากฟ้าอย่างไม่มีที่สิ้นสุดสู่ปวงประชาที่ยากไร้เสมอมา พระราชกรณียกิจที่สำคัญได้แก่ การเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศระหว่าง พ.ศ. 2502-2510  นอกจากนี้ยังมีพระราชกรณียกิจที่เกี่ยวข้องกับการสาธารณสุข และการศึกษา เป็นต้นว่า การก่อตั้งหน่วยแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (พอ.สว.) มูลนิธิขาเทียม มูลนิธิถันยรักษ์ และการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่น โครงการปลูกป่าและพัฒนาดอยตุง โครงการขยายพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ จัดตั้งศูนย์บำบัดผู้ติดยาเสพติด การส่งเสริมการศึกษาโดยทรงรับอุปการะโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนและโรงเรียนอื่นๆ

พระราชกรณียกิจที่เกี่ยวข้องกับการพยาบาลโดยตรง ได้แก่

1.ทรงเป็นพยาบาลที่ได้ใช้ความรู้ในวิชาชีพปฏิบัติพระราชกรณียกิจด้านต่างๆ ทั้งในส่วนพระองค์และส่วนรวมให้สำเร็จลุล่วงด้วยดีเป็นที่นิยมยกย่องของบุคคลทั่วไปทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ เป็นผลดีที่ส่งเสริมให้สถานะของพยาบาลไทยสูงส่งเป็นที่ยอมรับของบุคคลทั่วไปตามไปด้วย

2.ทรงเอาพระทัยใส่และให้การช่วยเหลือสมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทยฯ โดยการร่วมเป็นกรรมการสมาคม เสด็จมาเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการและให้ข้อเสนอแนะต่างๆ อันเป็นประโยชน์ รับสมาคมไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ เสด็จเป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมพยาบาลแห่งชาติ มอบหมายให้สมาคมฯ ดูแลรับผิดชอบโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนที่อำเภอสองแควจังหวัดน่าน โดยพระราชทานชื่อว่า “โรงเรียนสมาคมพยาบาลไทย” เพื่อเป็นเกียรติแก่พยาบาลไทยทั้งประเทศ เป็นต้น

3.ทรงพระเมตตาเสด็จพระราชทานปริญญาบัตรและวุฒิบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาพยาบาลในโรงเรียนพยาบาลต่างๆ

4.สมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทยฯ ได้ขอพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อใช้วันพระราชสมภพ วันที่ 21 ตุลาคม เป็นวันพยาบาลแห่งชาติ และวันสวรรคต วันที่ 18 กรกฎาคม เป็นวันศรีนครินทร์

5.สภาการพยาบาลร่วมกับสมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทยฯ ได้รับพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก่อตั้งมูลนิธิสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เพื่อมอบรางวัลแก่ผู้นำการพยาบาลที่มีผลงานดีเด่นในแต่ละปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 เป็นต้นมา

     ด้วยพระราชกิจอันแสนหนักแห่งขัตติยนารีผู้ยิ่งใหญ่ของชาติไทยที่เปี่ยมไปด้วยพระราชจริยาวัตรอันงดงาม ย่อมประจักษ์อย่างชัดเจนแก่ประชาชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ดังนั้นในโอกาสครบ 100 ปีแห่งการพระราชสมภพ เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2543 องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ UNESCO จึงได้ประกาศราชสดุดีเฉลิมพระเกียรติคุณยกย่องให้สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงเป็นบุคคลสำคัญของโลกปี พ.ศ. 2543  ในฐานะที่ทรงมีผลงานดีเด่น ด้านการศึกษาสำหรับเด็กและสตรี การสาธารณสุขศาสตร์ วิทยาศาสตร์ประยุกต์ สังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์

 

 

 

User Login Form