ศูนย์ความเป็นเลิศทางเอชไอวี-เอดส์
(The Center of Excellence in HIV/AIDS)
ประวัติความเป็นมา
คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก่อตั้งศูนย์ความเป็นเลิศทางเอชไอวี-เอดส์ เมื่อ ปี พ.ศ. 2548
เนื่องจากได้เห็นความสำคัญของปัญหาการแพร่กระจายของโรคเอดส์ที่คร่าชีวิตของประชากรทั่วโลกเป็นจำนวนมากอย่างรวดเร็ว
ตามรายงานขององค์การอนามัยโลก (UNAIDS/WHO, 2007) ที่พบว่ามีประชากรทั่วโลกติดเชื้อเอชไอวี-เอดส์มากถึง 33.2 ล้านคน
และเสียชีวิตแล้ว 2.1 ล้านคน ในประชากรที่ติดเชื้อนี้เป็นประชากรในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากถึง 6.4 ล้านคน
เป็นลำดับที่สองของโลก ซึ่งเกือบทั้งหมดอยู่ในประเทศอินเดีย ไทย เมียนมาร์และอินโดนีเชีย รวมกันมากถึงร้อยละ 99
และประมาณการณ์ว่าในจำนวนนี้เป็นคนไทยมากถึง 580,000 คน จึงนับว่าเอชไอวี-เอดส์เป็นปัญหาที่ร้ายแรงของประเทศ
และจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน
คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เห็นความสำคัญของปัญหาดังกล่าวนี้ จึงได้จัดตั้งศูนย์วิชาการขึ้น
เพื่อดำเนินการศึกษาวิจัยและนำความรู้ที่ได้มาให้การดูแลช่วยเหลือผู้ป่วยและผู้ที่เกี่ยวข้อง
วัตถุประสงค์
1.เป็นศูนย์แลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับเอชไอวี-เอดส์ ที่ได้จากการศึกษาวิจัยและการบริการวิชาการ
โดยการรวบรวมข้อมูลและสร้างเป็นองค์ความร้ในการดูแลผู้ป่วยเอชไอวี-เอดส์
2.เป็นศูนย์เครือข่ายความร่วมมือในการดูแลรักษาผู้ป่วยเอชไอวี-เอดส์ของหน่วยงานและองค์กรต่างๆ
ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับผู้ป่วยเอชไอวี-เอดส์ ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ
การดำเนินการ
1.ดำเนินการจัดพัฒนาองค์ความรู้ที่เกี่ยวกับเอชไอวี-เอดส์ ให้ทันสมัยตลอดเวลา
2.จัดทำแผนการวิจัยเกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยเอชไอวี-เอดส์และดำเนินการวิจัยตามแผน
รวมทั้งให้การสนับสนุนบุคคลและหน่วยงานอื่นทำวิจัยตามแผนการวิจัยนี้
3.ให้การสนับสนุนการนำผลการวิจัยไปใช้ในการบริการผู้ป่วยเอชไอวี-เอดส์
4.เผยแพร่ความรู้และข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้ป่วยเอชไอวี-เอดส์แก่บุคคล กลุ่มบุคคลและองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
5.ให้การดูแลผู้ป่วยเอชไอวี-เอดส์โดยตรงและให้คำปรึกษาแก่ผู้ดูแลและผู้ที่เกี่ยวข้องด้วยพฤติกรรมที่เหมาะสม
(Knowledge-Based Support Service)
6.ให้บริการในการศึกษาดูงานและฝึกอบรมความเชี่ยวชาญแก่บุคลากรทางสุขภาพและผู้ที่เกี่ยวข้อง
ทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ
7.ประสานความร่วมมือกับเครือข่ายต่างๆ ในการดูแลผู้ป่วยเอชไอวี-เอดส์ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ
8.เป็นแหล่งรวบรวมสถิติและข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้ป่วยเอชไอวี-เอดส์
ปัจจุบัน(พ.ศ.2558) ไม่ได้ดำเนินการในลักษณะศูนย์วิชาการแต่มีคณาจารย์ของคณะฯ ดำเนินการวิจัยและตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานหลายโครงการ