.

พระราชประวัติสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี

RB-04

 สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี  ในรัชกาลที่ 5  ทรงสนับสนุนการก่อตั้งและดำเนินการของ “โรงพยาบาลศิริราช” ตั้งแต่ ปี ค.ศ. 1888  เป็นต้นมา   และพระราชทานทุนทรัพย์ส่งแพทย์พยาบาลไปศึกษาต่อต่างประเทศเพื่อพัฒนาวงการแพทย์ไทย   อีกทั้งทรงเป็นแรงบันดาลใจให้สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล พระราชโอรสสนพระทัยและทรงอุทิศพระองค์เพื่อพัฒนาการแพทย์การพยาบาลและการสาธารณสุขไทย จนได้รับการถวายพระสมัญญานามว่า “พระบิดาแห่งการแพทย์ไทย”ในเวลาต่อมา   

 

     สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า พระนามเดิม พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าหญิงสว่างวัฒนา ประสูติเมื่อวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2405 สวรรคตเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2498  พระชนมายุ 93 พรรษา  พระองค์เป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) และสมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา (เจ้าจอมมารดาเปี่ยม)  ทรงมีพระเชษฐาและพระขนิษฐาร่วมพระมารดาทั้งสิ้น 6 พระองค์ ได้แก่ พระองค์เจ้าอุณากรรณอนันตนรไชยพระองค์เจ้าเทวัญอุไทยวงศ์พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา พระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี และพระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ

     พระองค์เจ้าหญิงสว่างวัฒนาทรงได้รับการศึกษาตามแบบกุลสตรีในวังหลวง และได้ศึกษาวิชาการใหม่ๆ ของโลกตะวันตกตั้งแต่ทรงพระเยาว์ จึงทรงได้เล่าเรียนทั้งภาษาอังกฤษและวิชาการอื่นๆ  รวมทั้งความรู้ด้านหัตถศิลป์การเรือน

     พระองค์ทรงเป็นพระภรรยาเจ้าในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) และได้รับการเฉลิมพระอิสริยยศเป็น สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี ในพ.ศ.2423  ทรงมีพระราชโอรส 4 พระองค์และพระราชธิดา4 พระองค์ คือ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร  สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าอิศริยาลงกรณ์  สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าวิจิตรจิรประภา อดุลยาดิเรกรัตน ขัตติยราชกุมารี  สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าสมมติวงศ์วโรทัย กรมขุนศรีธรรมราชธำรงฤทธิ์  สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ นรินทรเทพยกุมารี  สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าศิราภรณ์โสภณ พิมลรัตนวดี  และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมขุนสงขลานครินทร์

     ในฐานะพระราชชนนี พระองค์ทรงอภิบาลพระราชโอรสและพระราชธิดาด้วยพระวิริยะ และทรงเป็นแบบอย่างในการใฝ่ศึกษาเรียนรู้ ดำรงมั่นในคุณธรรมจริยธรรม แสดงความเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์และทรงงานเพื่อส่วนรวม อันเป็นผลสืบเนื่องให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ามหิดลทรงเจริญรอยตามและเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาการแพทย์การพยาบาลและการสาธารณสุขไทย พระองค์ทรงประสบความโทมนัสหลายครั้งหลายครา อันเกิดจากที่พระโอรสและพระธิดาสิ้นพระชนม์ตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ทำให้พระพลานามัยของพระองค์ทรุดลงด้วยความเศร้าโศก แต่ด้วยความเข้มแข็งและการเข้าถึงแก่นแห่งธรรมะ จึงทรงผ่านพ้นความทุกข์โศกอันใหญ่หลวงนี้และทรงดำรงมั่นในการทรงงานเพื่อส่วนรวมกระทั่งสิ้นพระชนม์

     พระองค์ทรงรับใช้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัวเรื่อยมา เนื่องจากทรงสามารถจดจำพระราชกระแสได้เป็นอย่างดี และยังเป็นผู้รอบรู้การงานในพระราชสำนัก และขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆ จึงทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจมากมายหลายด้าน อาทิ ในปี พ.ศ. 2436 สภาอุณาโลมแดงได้เริ่มจัดตั้งขึ้น พระองค์ทรงดำรงตำแหน่งองค์สภาชนนี ต่อมาในปี พ.ศ. 2463 หลังการสวรรคตของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ สภานายิกาพระองค์แรก พระองค์จึงดำรงตำแหน่งสภานายิกาต่อมาเป็นพระองค์ที่สอง เป็นเวลายาวนานถึง 35 ปี โดยได้พระราชทานพระราชทรัพย์จำนวนมากเพื่อบำรุงสภากาชาดไทยและตั้งกองทุนต่างๆ ในการส่งนักเรียนไปเรียนต่างประเทศ เพื่อให้มีผู้เชี่ยวชาญมาปฏิบัติหน้าที่อย่างเพียงพอ นอกจากด้านการแพทย์และการสาธารณสุข ยังมีด้านการศึกษา การศาสนา การต่างประเทศทั้งการเสด็จออกรับแขกเมืองและการเสด็จประพาสต่างประเทศ  การหัตถกรรมและการเกษตร

    ในด้านการพยาบาล  พระองค์ทรงสนับสนุนการก่อตั้งและดำเนินการของ โรงศิริราชพยาบาล ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งในปี พ.ศ. 2431  เรื่อยมาตราบจนพระองค์เสด็จสวรรคต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังจากเหตุการณ์การสิ้นพระชนม์ของพระราชโอรสธิดาไปถึงจำนวน 6 พระองค์ ส่งผลให้พระองค์ทรงพระประชวรและเสด็จฯ แปรพระราชฐานไปประทับรักษาพระองค์ที่พระตำหนักศรีราชา ซึ่งพระองค์ทรงให้จัดสร้างสถานพยาบาลขึ้น โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานนามว่า “โรงพยาบาลสมเด็จ” ปัจจุบัน คือ โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา และพระองค์ยังทรงริเริ่มหน่วยแพทย์เคลื่อนที่โดยใช้เกวียนเป็นพาหนะ เพื่อแจกจ่ายยาและให้การปฐมพยาบาลเบื้องต้นแก่ราษฏรที่อยู่ห่างไกลอีกด้วย นอกจากนี้ ยังพระราชทานทุนทรัพย์ส่งแพทย์พยาบาลไปศึกษาต่อต่างประเทศเพื่อพัฒนาวงการแพทย์ไทยอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งทรงเป็นแรงบันดาลพระราชหฤทัยให้สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล พระราชโอรสสนพระราชหฤทัย และทรงอุทิศพระองค์เพื่อพัฒนากิจการการแพทย์การพยาบาลและการสาธารณสุขไทย จนได้รับการถวายพระสมัญญานามว่าพระบิดาแห่งการแพทย์ไทยในเวลาต่อมา

     ด้วยพระเกียรติคุณที่ทรงประกอบพระราชกรณียกิจเพื่อประโยชน์สุขของประเทศชาติและประชาชนนานัปการ จนเป็นที่ประจักษ์ชัดจนถึงทุกวันนี้ องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ UNESCO ในที่ประชุมสมัยสามัญของยูเนสโก ครั้งที่ 36 ระหว่างวันที่ 25 ตุลาคม ถึงวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554  ณ สำนักงานใหญ่องค์การยูเนสโก กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส จึงได้ประกาศราชสดุดีเฉลิมพระเกียรติคุณยกย่องให้สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าทรงเป็น บุคคลสำคัญของโลก ในฐานะที่ทรงมีผลงานดีเด่นด้านการศึกษาวิทยาศาสตร์สุขภาพและการอนุรักษ์พัฒนาวัฒนธรรม ปี พ.ศ. 2554  เนื่องในโอกาสครบ 150 ปี แห่งการพระราชสมภพ วันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2555 เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติคุณให้ปรากฏแผ่ไพศาล สืบไป

base1

User Login Form