ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมด้านการดูแลผู้สูงอายุ
Center for Research and Innovation in Elderly Care)

cte9

ประวัติความเป็นมา
     คณะพยาบาลศาสตร์ ได้จัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศทางการพยาบาลผู้สูงอายุขึ้นในปี พ.ศ. 2548
โดยมุ่งที่จะเป็นศูนย์รวมของนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญทางด้านผู้สูงอายุและสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง
ดำเนินกิจกรรมด้านการวิจัยเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ด้านผู้สูงอายุ การเรียนการสอนและการปฏิบัติด้านการพยาบาลผู้สูงอายุ
ในระยะแรกได้ใช้ชื่อว่า “ศูนย์ความเชี่ยวชาญทางด้านผู้สูงอายุ” (
Center of Excellence on Aging) 
และต่อมาได้เปลี่ยนเป็น “ศูนย์ความเป็นเลิศทางการดูแลผู้สูงอายุ” (Center of Excellence on Elderly Care)
โดยได้เล็งเห็นความสำคัญของประชากรผู้สูงอายุ ซึ่งกำลังกลายเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ของประเทศ
ตลอดจนผลกระทบต่อประเทศชาติจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรดังกล่าว
โดยการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุจำเป็นที่จะต้องใช้องค์ความรู้เฉพาะ เนื่องจากกลุ่มผู้สูงอายุมีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างจากประชากรกลุ่มอื่น
การจัดบริการสำหรับผู้สูงอายุจะต้องมุ่งสนองความต้องการของผู้สูงอายุอย่างครอบคลุมทุกด้านโดยคำนึงถึงความเป็นองค์รวมของผู้สูงอายุและปฏิบัติการโดยอิงหลักฐานทางการวิจัยเป็นสำคัญ
     ในปี พ.ศ. 2551 คณะพยาบาลศาสตร์ได้เปลี่ยนโครงสร้างการบริหาร โดยมีการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศทางการพยาบาล
ในโครงสร้างของคณะฯ  ต่อมาใน พ.ศ. 2556 ได้มีการปรับเปลี่ยนการดำเนินการ โดยมีการจัดตั้งศูนย์เฉพาะทางการพยาบาลสาขาต่างๆ
ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของนักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญและสนใจในด้านเดียวกัน และศูนย์ความเป็นเลิศทางการดูแลผู้สูงอายุ
ได้เปลี่ยนชื่อเป็น ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมด้านการดูแลผู้สูงอายุ ขึ้นโดยมีคณะกรรมการดำเนินงานที่ประกอบด้วยคณาจารย์
ที่มีความสนใจด้านการดูแลผู้สูงอายุ รับผิดชอบในการดำเนินการทั้งด้านการวิจัย และการบูรณาการ
การวิจัยกับการเรียนการสอนและการบริการวิชาการ

วัตถุประสงค์
1.ส่งเสริมนักวิจัยที่มีคุณภาพ มีความชำนาญให้สามารถพัฒนาความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านผู้สูงอายุ
2.สร้างทีมนักวิจัยด้านผู้สูงอายุที่แข็งแกร่งระดับชาติ
3.สร้างประเด็นการวิจัยด้านผู้สูงอายุบนฐานความรู้ที่เป็นอัตลักษณ์
4.ส่งเสริมกลุ่มนักวิจัยให้มีการดำเนินการวิจัยที่มีลักษณะบูรณาการ และเป็นเครือข่ายภายในมหาวิทยาลัย
และระหว่างสถาบันการศึกษาและหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน

5.จัดระบบการบริหารจัดการงานวิจัยอย่างบูรณาการให้เกิดประโยชน์สูงสุด
เพื่อผลักดันให้เกิดความเป็นเลิศทางการวิจัยด้านผู้สูงอายุ

การดำเนินงาน
1.ด้านการวิจัย  ผลิตผลงานวิจัยที่มีคุณภาพสอดคล้องกับปัญหาของสังคมและประเทศชาติอย่าต่อเนื่อง
โดยประเด็นการวิจัยครอบคลุมทั้งการสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การดูแลและการฟื้นฟูสภาพ
รวมถึงการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับนโยบายด้านสุขภาพและผู้สูงอายุ เป็นงานวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณ
จากหน่วยงานและองค์กรภายในและภายนอกมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทั้งในประเทศและนานาชาติ
โดยงานวิจัยของศูนย์ฯ มีหลายหลายรูปแบบดังนี้

   1.1.การวิจัยแบบบูรณาการ  งานวิจัยของศูนย์ฯ เป็นงานวิจัยที่มีการบูรณาการกับหน่วยงานทั้งภายในและภายนอกองค์กร
         และนานาชาติ เพื่อให้สามารถแก้ปัญหาและตอบสนองความต้องการของผู้สูงอายุอย่างเป็นองค์รวม
   1.2.การวิจัยเพื่อตอบสนองปัญหาของชุมชน  งานวิจัยของศูนย์ฯ มุ่งเน้นการแก้ปัญหาของผู้สูงอายุในชุมชน
         ดังนั้นการดำเนินการวิจัยจึงเป็นการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานในชุมชนเพื่อการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ต่อเนื่องในชุมชน
   1.3.การวิจัยเพื่อผลิตองค์ความรู้ทางด้านผู้สูงอายุและนวัตกรรม  นักวิจัยของศูนย์ฯ ดำเนินการวิจัยเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ๆ
         ทางด้านการดูแลผู้สูงอายุที่สามารถนำความรู้ไปต่อยอดและใช้ประโยชน์

2.ด้านการเผยแพร่ผลงานวิจัย  ผลงานวิจัยของศูนย์ฯ ได้เผลแพร่โดยการตีพิมพ์บทความวิจัยในวารสารระดับชาติและนานาชาติ
การเผยแพร่ผ่านสื่อต่างๆ เช่น หนังสือพิมพ์ วิทยุ เป็นต้น การนำเสนอในที่ประชุมระดับชาติและนานาชาติ
และการเขียนบทความทางวิชาการ

3.การใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัย  ผลงานวิจัยของศูนย์ฯ ได้นำไปใช้ประโยชน์ ผ่านกิจกรรมดังนี้
   3.1.การจัดอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพด้านการดูแลผู้สูงอายุ โดยร่วมกับศูนย์บริการพยาบาล คณะพยาบาลศาสตร์
         3.1.1.หลักสูตรเฉพาะทางสาขาการพยาบาลผู้สูงอายุ ระยะเวลา 4 เดือน สำหรับพยาบาลวิชาชีพเพื่อให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญ
                  ในด้านการส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรคในผู้สูงอายุ การดูแลผู้สูงอายุที่มีความเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง
                  และการดูแลผู้สูงอายุในระยะสุดท้าย และครอบครัว
         3.1.2.หลักสูตรการดูแลผู้สูงอายุระยะยาว ระยะเวลา 3 เดือน สำหรับผู้ดูแลผู้สูงอายุ เพื่อให้มีความรู้และทักษะ
                  ในการดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง
         3.1.3.การจัดอบรมระยะสั้นสำหรับผู้ที่มีเกี่ยวข้องกับการดำเนินงานด้านผู้สูงอายุทั้งผู้ที่ปฏิบัติงานในประเทศและต่างประเทศ
   3.2.การใช้ประโยชน์โดยชุมชน  ผลงานวิจัยของศูนย์ฯ ได้ถูกนำไปใช้ประโยชน์โดยชุมชน ได้แก่ รูปแบบการดูแลแบบกึ่งเฉียบพลัน
         หรือระยะกลางสำหรับผู้ที่ได้รับการจำหน่ายจากโรงพยาบาลและต้องการการดูแลต่อเนื่องที่บ้านและรูปแบบการดูแลระยะยาว
         สำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง และงานวิจัยโรงเรียนสร้างสุข (ภาพ) สำหรับผู้สูงอายุที่พัฒนาโดยทีมวิจัยจากศูนย์ฯ
         ได้นำไปต่อยอดโดยชุมชนได้แก่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล
         โดยได้นำไปใช้จัดบริการสำหรับผู้สูงอายุกลุ่มเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง


ติดต่อศูนย์วิจัยและนวัตกรรมด้านการดูแลผู้สูงอายุ
 
โทรศัพท์ 053-949-093    
E-mail: This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

User Login Form