ศูนย์พัฒนาศักยภาพการบริการสปาเพื่อสุขภาพ
(Center of Efficiency Development for Health Spa Services)
ประวัติความเป็นมา
คณะพยาบาลศาสตร์ก่อตั้งศูนย์พัฒนาศักยภาพการบริการสปาเพื่อสุขภาพ เมื่อปี พ.ศ. 2549
ภายใต้การสนับสนุนด้านงบประมาณจากจังหวัดเชียงใหม่ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมภาคเหนือ
ต่อมาได้รับงบประมาณสนับสนุนเพิ่มเติมจากจังหวัดในเขตภาคเหนือและสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่
ด้วยเห็นว่าธุรกิจบริการสปาเพื่อสุขภาพมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วตามความต้องการที่เกิดขึ้นอย่างมหาศาล
เนื่องจากประชาชนให้ความสนใจและเห็นคุณค่าของการดูแลสุขภาพตามวิถีธรรมชาติบำบัดมากขึ้น
จึงทำให้ภาพรวมธุรกิจบริการสปาในประเทศไทยมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
เพราะมีข้อได้เปรียบจากความพร้อมและความเป็นเอกลักษณ์ของไทย อาทิ การนวดแผนไทย การใช้สมุนไพรไทย
และมีจุดเด่นด้านการบริการด้วยอัธยาศัยไมตรีแบบของคนไทย ทำให้ธุรกิจบริการสปาไทยมีอัตราการเติบโตค่อนข้างสูง
และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีผลให้ผู้ประกอบการต่างต้องเร่งเพิ่มศักยภาพธุรกิจของตนเพื่อให้สามารถแข่งขันได้
คณะพยาบาลศาสตร์ได้ให้ความร่วมมือกับสำนักงานจังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่
สำนักงานพาณิชย์จังหวัดเชียงใหม่ และสมาคมไทยล้านนาสปา จัดตั้ง “ศูนย์พัฒนาศักยภาพการบริการสปาเพื่อสุขภาพ”
ขึ้นโดยใช้อาคารปฏิบัติการคณะพยาบาลศาสตร์ ตำบลแม่สา อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อให้เป็นแหล่งฝึกอบรม
และพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านการบริการสปาเพื่อสุขภาพ โดยจัดอบรมทั้งด้านผู้ดำเนินการกิจการสปาเพื่อสุขภาพ
(Spa Manager) ผู้ให้บริการสปา (Spa Therapist) และดำเนินการหรือเจ้าของสปา (Spa Owner) ตั้งแต่ พ.ศ. 2549 เป็นต้นมา
วัตถุประสงค์
1.พัฒนาความรู้ ศักยภาพ และทักษะการบริการสปาเพื่อสุขภาพแก่บุคคลทั่วไป และหรือผู้ที่สำเร็จการศึกษาในสายวิทยาศาสตร์สุขภาพ
ให้สามารถดำเนินธุรกิจและให้บริการสปาที่ถูกต้องและมีมาตรฐาน
2.ประสานความร่วมมือระหว่างสถาบันและองค์กรที่เกี่ยวข้องในธุรกิจสปาทั้งภาครัฐและเอกชน
ทั้งในและต่างประเทศในการพัฒนาความรู้และทักษะการบริการของบุคลากร
3.พัฒนารูปแบบมาตรฐานการบริการสปาเพื่อสุขภาพที่ผสมผสานเชื่อมโยงองค์ความรู้ด้านสปาเพื่อสุขภาพจากแหล่งวิชาการและงานวิจัย
ที่เป็นสากลร่วมกับองค์ความรู้เฉพาะด้านอัตลักษณ์ไทยล้านนาสปา
4.สนับสนุนงานบริการสปาในประเทศไทย โดยเฉพาะในจังหวัดเชียงใหม่และเขตภาคเหนือ
ให้เป็นแหล่งกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศจากการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ
5.เป็นแนวทางในการดำเนินอาชีพใหม่แก่บุคลากรในสายวิทยาศาสตร์สุขภาพ ผู้สนใจ และผู้ที่เกี่ยวข้องกับการบริการสปา
การดำเนินงาน
1.จัดอบรมผู้ดำเนินกิจการสปาเพื่อสุขภาพ (Spa Manager) ที่เป็นทั้งผู้จัดการและเจ้าของกิจการสปา
ภายใต้โครงการส่งเสริมการค้าการลงทุนและการท่องเที่ยวกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบนสู่สากลและโครงการพัฒนา
ผู้ประกอบการสปาเพื่อสุขภาพหลักสูตรกลางของกระทรวงสาธารณสุข
2.จัดอบรมผู้ให้บริการสปาเพื่อสุขภาพ (Spa Therapist) เพื่อเตรียมบุคลากรให้บริการสปาหลักสูตรทั่วไป
เพื่ออบรมการนวดในสปาเพื่อสุขภาพและหลักสูตรเพื่อต่อยอดความรู้เกี่ยวกับการกดจุดสะท้อน (Reflexology)
การนวดล้านนาเอ็กโซติก การฟ้อนเจิงเพื่อสุขภาพ กายวิภาคศาสตร์และสรีระวิทยาที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการสปาเพื่อสุขภาพ
เทคนิคการผ่อนคลายสำหรับผู้ให้บริการสปาเพื่อสุขภาพ (โยคะและสมาธิเบื้องต้น) การนวดระบายน้ำเหลือง
การดูแลสุขภาพและความงามผิวหน้า (Facial treatment) การใช้น้ำและอุณหภูมิเพื่อสุขภาพ การฟ้อนเจิงและสมาธิเพื่อสุขภาพ
การดูแลสุขภาพกับสมุนไพรล้านนา รวมทั้งหลักสูตรเตรียมความพร้อมสำหรับการสอบเป็นผู้ประกอบการสปาเพื่อสุขภาพ
3.จัดอบรมผู้ประกอบการสปาไทยเพื่อสุขภาพ (Spa Owner) ในต่างประเทศ โดยร่วมกับสมาคมผู้ประกอบการสปาไทยในประเทศเยอรมัน
จัดอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพเจ้าของกิจการสปาไทยเพื่อสุขภาพและเตรียมความพร้อมสำหรับการสอบเป็นผู้ประกอบการสปาเพื่อสุขภาพ
ที่ปฏิบัติงานในสถานบริการสปาไทยในประเทศเยอรมันจำนวน 2 รุ่น โดยจัดที่ประเทศเยอรมันหนึ่งรุ่นและจัดที่ศูนย์พัฒนาศักยภาพ
การบริการสปาเพื่อสุขภาพ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่อีกหนึ่งรุ่น และให้ความร่วมมือกับสมาคมผู้ประกอบการสปาไทย
ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์จัดอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพเจ้าของกิจการสปาเพื่อสุขภาพและเตรียมความพร้อมสำหรับการสอบ
เป็นผู้ประกอบการสปาเพื่อสุขภาพที่ปฏิบัติงานในสถานบริการสปาไทยในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ณ สถานประกอบการสปาไทย
ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ อีกหนึ่งรุ่น
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
ศูนย์พัฒนาศักยภาพการบริการสปาเพื่อสุขภาพ ชั้น 2 อาคาร 4 คณะพยาบาลศาสตร์
โทร 053-949-138, 053-945-012 โทรสาร 053-217-145
http://portal.nurse.cmu.ac.th/comserve/SitePages/spa.asp