ศูนย์ความร่วมมือขององค์การอนามัยโลก แห่งที่ 203
(World Health Organization Collaborating Center : WHO CC 203)
ประวัติความเป็นมา
คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ให้ความร่วมมือทางวิชาการกับองค์การอนามัยโลกมาเป็นเวลานาน
ในรูปแบบของการจัดอบรมด้านการพยาบาลและการผดุงครรภ์แก่บุคลากรจากประเทศต่างๆ
ที่ได้รับทุนจากองค์การอนามัยโลก โดยเป็นแหล่งฝึกอบรมเพื่อพัฒนาบุคลากรทางด้านสาธารณสุข
ในหลักสูตรต่างๆ เป็นต้นว่า Midwifery Education for Safe Motherhood, Elderly Care, Community Nursing
รวมทั้งการจัดทำหนังสือและตำราทางการพยาบาล การทำวิจัย การพัฒนาสื่อถ่ายทอดความรู้ การส่งอาจารย์เป็นผู้เชี่ยวชาญ
เพื่อเป็นที่ปรึกษาและให้ความช่วยเหลือในการพัฒนาหลักสูตรการศึกษาพยาบาลและการผดุงครรภ์
เพื่อพัฒนาการจัดการศึกษาของสถาบันการศึกษาพยาบาลในประเทศต่างๆ โดยเฉพาะในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
จากการเป็นศูนย์วิชาการที่ให้ความร่วมมือดังกล่าวแล้ว และได้มีการจัดทำเอกสารเพื่อเสนอต่อ WHO
ในการเป็นศูนย์ความร่วมมือด้านการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ในปี พ.ศ. 2546 และได้รับความเห็นชอบ
โดยการแต่งตั้งจากองค์การอนามัยโลก เมื่อวันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2546 ให้เป็นศูนย์ความร่วมมือ
ขององค์การอนามัยโลกแห่งที่ 203 จากทั่วโลก ถือเป็นความสำเร็จและความภาคภูมิใจของคณะพยาบาลศาสตร์
ที่ได้รับการยอมรับจากองค์การอนามัยโลกให้เป็นสถาบันการศึกษาพยาบาลและผดุงครรภ์ชั้นนำที่มีศักยภาพ
ทางวิชาการในระดับมาตรฐานสากล
วัตถุประสงค์
ศูนย์ความร่วมมือทางการพยาบาลและการผดุงครรภ์ขององค์การอนามัยโลก มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาการพยาบาล
และการผดุงครรภ์ในทุกๆ ด้าน โดยการให้ความช่วยเหลือทั้งบุคคลและหน่วยงานภายในประเทศและต่างประเทศ
เป็นศูนย์ฝึกอบรมในด้านการศึกษาพยาบาล การวิจัยและการบริหารการพยาบาล ให้ความร่วมมือในการจัดกิจกรรม
ตลอดจนการเป็นที่ปรึกษาตามความต้องการของสำนักประสานงานองค์การอนามัยโลกประจำภูมิภาค
(WHO South East Asia Regional Office = SEARO) โดยมุ่งเน้นการนำหลักฐานเชิงประจักษ์มาใช้ในการพยาบาลและการผดุงครรภ์
การทบทวนความรู้อย่างเป็นระบบ และการใช้แนวทางการปฏิบัติที่เป็นเลิศในการพยาบาลและการผดุงครรภ์
รวมทั้งการพัฒนาความสามารถในการบริหารจัดการทางการพยาบาลและการผดุงครรภ์ การขยายบทบาท
และความสามารถของพยาบาลและผดุงครรภ์ในด้านการสร้างเสริมสุขภาพ ทั้งนี้เพื่อเป็นการพัฒนาคณะพยาบาลศาสตร์
ให้มีความแข็งแกร่งทางด้านวิชาการเพิ่มมากขึ้นด้วย ศูนย์มีวัตถุประสงค์ ดังนี้
1.เป็นศูนย์กลางให้บริการทางด้านการศึกษา การวิจัย และการปฏิบัติการทางการพยาบาลและการผดุงครรภ์
2.ดำเนินการทบทวนความรู้อย่างเป็นระบบและวิเคราะห์รายงานการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการพยาบาลและการผดุงครรภ์
3.เผยแพร่แนวทางการปฏิบัติที่เป็นเลิศทางการพยาบาลและการผดุงครรภ์โดยสนับสนุนการนำไปใช้
ผ่านโปรแกรมการจัดการศึกษาและการฝึกอบรม
4.ส่งเสริมความสามารถในการบริหารจัดการของพยาบาลและผดุงครรภ์
การดำเนินการ
1.ด้านการเป็นศูนย์กลางให้บริการทางด้านการศึกษา การวิจัย และการปฏิบัติ ทางการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ได้แก่
1.1.จัดหลักสูตรการศึกษาทางด้านการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ระดับปริญญาตรี โท เอก ทั้งหลักสูตรปกติและหลักสูตรนานาชาติ
1.2.จัดหลักสูตรฝึกอบรมแก่บุคลากรทางสุขภาพจากประเทศต่างๆ
1.3.จัดหลักสูตรการพยาบาลเฉพาะทางและหลักสูตรปริญญาโททางการพยาบาลและการผดุงครรภ์ สาขาต่างๆ
1.4.ดำเนินการวิจัยอย่างหลากหลายในทุกด้านที่เกี่ยวข้องกับการพยาบาลและการผดุงครรภ์
1.5.จัดประชุมวิชาการที่เกี่ยวข้องกับการพยาบาลและการผดุงครรภ์ในระดับชาติและระดับนานาชาติ
1.6.ให้บริการเผยแพร่ข้อมูลและผลการวิจัยทางการพยาบาลและการผดุงครรภ์ที่ทันสมัยทางออนไลน์
2.ด้านดำเนินการทบทวนความรู้อย่างเป็นระบบและวิเคราะห์รายงานการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ได้แก่
2.1.ดำเนินการทบทวนความรู้อย่างเป็นระบบเกี่ยวกับการพยาบาลและการผดุงครรภ์
2.2.ดำเนินการศึกษาวิจัยทางการพยาบาลและการผดุงครรภ์สาขาต่างๆ โดยใช้วิธีการทบทวนความรู้อย่างเป็นระบบ
2.3.ให้คำแนะนำและเป็นที่ปรึกษาการทำวิจัยทางการพยาบาลและการผดุงครรภ์ที่ใช้วิธีการทบทวนความรู้อย่างเป็นระบบ
2.4.เผยแพร่ความรู้และคำแนะนำเกี่ยวกับวิธีการทบทวนความรู้อย่างเป็นระบบทางการพยาบาล
และการผดุงครรภ์แก่บุคคล กลุ่มบุคคลและหน่วยงาน
2.5.จัดโครงการฝึกอบรมวิธีการทบทวนความรู้อย่างเป็นระบบทางการพยาบาลและการผดุงครรภ์ให้แก่พยาบาล
และบุคคลที่ทำงานเกี่ยวข้องในคลินิก
3.ด้านการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับแนวทางการปฏิบัติที่เป็นเลิศทางการพยาบาลและการผดุงครรภ์
โดยสนับสนุนการนำไปใช้ผ่านโปรแกรมการจัดการศึกษาและการฝึกอบรม ได้แก่
3.1.จัดทำคู่มือแนะนำแนวทางการปฏิบัติที่เป็นเลิศและนำไปใช้ในการปฏิบัติการในคลินิก
3.2.ดำเนินการศึกษาวิจัยตามแนวทางการปฏิบัติที่เป็นเลิศโดยนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาและคณาจารย์
3.3.ให้คำแนะนำและเป็นที่ปรึกษาแก่พยาบาลในคลินิกในการนำแนวทางการปฏิบัติที่เป็นเลิศ
ไปใช้ในการให้บริการผู้ป่วยในโรงพยาบาล
3.4.เผยแพร่ข้อมูลที่ได้เรียนรู้จากการนำแนวทางการปฏิบัติที่เป็นเลิศไปใช้ในการดูแลผู้ป่วยในการจัดสัมมนาการประชุมวิชาการ
การฝึกอบรมทั้งในระดับชาติและนานาชาติ รวมทั้งเผยแพร่ผ่านสื่อออนไลน์และวารสารวิชาการ
4.ด้านส่งเสริมความสามารถในการบริหารจัดการของพยาบาลและผดุงครรภ์ ได้แก่
4.1.จัดหลักสูตรการบริหารการพยาบาลในระดับปริญญาโททั้งภาคปกติและหลักสูตรนานาชาติ
4.2.จัดหลักสูตรการฝึกอบรมเฉพาะทางเพื่อเพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์ในการบริหารจัดการทางการพยาบาลและการผดุงครรภ์
4.3.ให้คำปรึกษาทางด้านการบริหารจัดการทางการพยาบาลและการผดุงครรภ์แก่พยาบาลและผดุงครรภ์
ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
4.4.ให้ความรู้และส่งเสริมความสามารถของพยาบาลและผดุงครรภ์ในการมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายสุขภาพแห่งชาติ
จากผลสำเร็จของการดำเนินงานของศูนย์ความร่วมมือขององค์การอนามัยโลก ศูนย์วิชาการอื่นๆ ของคณะฯ
และความเชี่ยวชาญหลายด้านของคณาจารย์ในคณะฯ ทำให้คณะพยาบาลศาสตร์ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากประเทศต่างๆ
ประกาศปฏิญญาสากลเชียงใหม่ ว่าด้วยการพยาบาลและการผดุงครรภ์สำหรับการสาธารณสุขมูลฐาน
(The Chiang Mai Declaration : Nursing and Midwifery for Primary Health Care) ในการประชุมวิชาการนานาชาติ
เรื่อง ก้าวสู่มิติใหม่การสาธารณสุขมูลฐาน (New Frontiers in Primary Health Care: Role of Nursing and Other Professions)
เมื่อวันที่ 4-6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 ภายใต้การสนับสนุนจาก China Medical Board of New York
ซึ่งเป็นการประชุมในโอกาสที่การสาธารณสุขมูลฐานทั่วโลกดำเนินการมาครบ 30 ปี หลังการประกาศปฏิญญาสากล
ที่เมือง Alma-Ata ในประเทศรัสเซีย จึงนับเป็นความสำเร็จของศูนย์ความร่วมมือแห่งนี้ที่มีส่วนสำคัญ
ในการผลักดันให้เกิดการพัฒนาการสาธารณสุขมูลฐาน เพื่อให้เกิดภาวะสุขภาพที่ดีของประชากรทั่วโลก
ติดต่อข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://www.nurse.cmu.ac.th/whocc203/