.
พระราชประวัติสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม
สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก พระโอรสในรัชกาลที่ 5 ทรงวางรากฐานการพยาบาลแผนใหม่และปรับปรุงการสอนของโรงเรียนพยาบาลศิริราช ด้วยความช่วยเหลือจากมูลนิธิร็อคกีเฟลเลอร์ในการนำระบบพยาบาลไนติงเกลเข้ามาใช้และจัดทำหลักสูตรให้มีมาตรฐานสากล พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ให้พยาบาลไทยไปศึกษาต่อต่างประเทศ จ้างครูพยาบาลอเมริกันมาช่วยสอนและทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนพยาบาล พระราชทานที่ดินริมแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อสร้างอาคารเรียนและหอพักนักเรียนพยาบาล ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ ทำให้วิชาการพยาบาลพัฒนาอย่างรวดเร็วตลอดมา
สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาท สมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) และสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า พระชายาคือ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี มีพระราชโอรสธิดา 3 พระองค์ คือ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร (รัชกาลที่ 8) และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9) ทรงพระราชสมภพเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2434 สิ้นพระชนม์ วันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2472 พระชนมายุ 37 พรรษา
พระองค์เสด็จไปทรงศึกษาวิชาการทหาร ณ ประเทศอังกฤษและเยอรมัน ในปี พ.ศ. 2454 ทรงสำเร็จการศึกษาวิชาทหารเรือ และได้รับพระยศ นายเรือตรีแห่งราชนาวีเยอรมันและราชนาวีสยาม พระองค์เสด็จกลับประเทศไทย ในช่วงเริ่มต้นของสงครามโลกครั้งที่ 1 ทรงเข้ารับราชการในกระทรวงทหารเรือในตำแหน่งสำรองราชการ กรมเสนาธิการทหารเรือ ได้รับพระราชทานยศเป็นนายเรือโท ตั้งแต่วันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2458 หลังจากทรงศึกษาวิธีบริหารราชการจากระเบียบราชการทหารเรือ ประมาณ 4 เดือนแล้ว ทรงย้ายไปรับตำแหน่งในกองอาจารย์นายเรือ แผนกตำรากรมยุทธศึกษาทหารเรือ และทรงลาออกในเวลาต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2459 (ค.ศ. 1916) เพื่อภารกิจที่สำคัญกว่า คือ การปรับปรุงการสาธารณสุขของประเทศไทยที่ยังล้าหลังและมีปัญหาอย่างมากตามคำทูลวิงวอนขอความช่วยเหลือจากสมเด็จกรมพระยาชัยนาทนเรนทร ผู้ทรงดำรงตำแหน่งผู้ช่วยปลัดทูลฉลองและผู้บัญชาการราชแพทยาลัยในขณะนั้น ในปีต่อมา พ.ศ. 2460 พระองค์จึงตัดสินพระทัยเสด็จพระราชดำเนินไปศึกษาต่อวิชาการแพทย์และการสาธารณสุข ณ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เมืองบอสตันสหรัฐอเมริกา และสำเร็จการศึกษาการสาธารณสุข ทรงได้รับประกาศนียบัตรวิชาสาธารณสุข หรือ C.P.H. (Certificate of Public Health) ในปี พ.ศ. 2464 และสำเร็จวิชาการแพทย์ ทรงได้รับปริญญา Doctor of Medicine (M.D.) เกียรตินิยมชั้น Cum Laude ในปี พ.ศ. 2471 ขณะเดียวกันทรงเป็นผู้แทนรัฐบาลไทยในการเจรจากับมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์เกี่ยวกับการช่วยเหลือด้านการศึกษาวิชาแพทย์ในประเทศไทย ซึ่งบรรลุผลสำเร็จให้กับรัฐบาลไทยนานัปการในเวลาต่อมาถึงแม้จะมีการเจรจากันหลายครั้งก็ตาม
หลังจากทรงสำเร็จการศึกษาจากประเทศสหรัฐอเมริกา สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลเสด็จพระราชดำเนินกลับกรุงเทพมหานคร ทรงรับเป็นพระอาจารย์พิเศษ คณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล แล้วจึงเสด็จฯ ไปทรงงานในฐานะแพทย์ประจำบ้าน โรงพยาบาลแมคคอร์มิค จังหวัดเชียงใหม่ ประทับที่เชียงใหม่ประมาณ 3 สัปดาห์ ก็ต้องเสด็จกลับกรุงเทพเนื่องในพระราชพิธี ถวายพระเพลิงสมเด็จกรมพระยาภานุพันธ์วงศ์วรเดช ทรงมีพระราชประสงค์จะเสด็จกลับเชียงใหม่ แต่ก็มิได้เป็นไปตามพระราชประสงค์ เนื่องจากทรงพระประชวร ได้เสด็จทิวงคต จากพระอาการโรคฝีบิดในพระยกนะ (ตับ) และมีโรคแทรกซ้อนคือ พระอาการบวมน้ำที่พระปับผาสะ (ปอด) และพระหทัยวายเมื่อวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2472 ขณะทรงมีพระชนมายุ 37 ปี 8 เดือน 23 วัน
ตลอดระยะเวลา 10 ปี ที่ทรงเกี่ยวข้องกับการแพทย์การพยาบาลและการสาธารณสุข ได้ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจไว้มากมาย ทรงอุทิศทั้งพระราชทรัพย์และพระวรกาย พระสติปัญญาความสามารถเพื่อสุขภาพของประชาชนไทยโดยแท้ กล่าวคือ ทรงพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อเป็นทุนการศึกษาและค้นคว้าวิจัยรวมทั้งการศึกษาต่อต่างประเทศของทั้งแพทย์และพยาบาล พระราชทานทุนเพื่อการก่อสร้างตึกต่างๆ และขยายพื้นที่ของโรงพยาบาล ศิริราชในด้านการสาธารณสุขทรงเคยสำรวจสุขาภิบาลในกรุงเทพ เพื่อเปรียบเทียบกับต่างประเทศที่ทรงศึกษามา ทรงช่วยอบรมสาธารณสุขมณฑล และเคยทรงปรารภว่าจะให้มีการเผาศพด้วยไฟฟ้า เพื่อให้เป็นไปตามหลักสุขาภิบาล นอกจากนี้ยังทรงมีน้ำพระราชหฤทัยเมตตา ช่วยเหลือการศึกษาด้านอื่นนอกเหนือจากการแพทย์ เป็นต้นว่า ทรงพระราชทานทุน 1 แสนบาทเพื่อส่งคนไปศึกษาต่างประเทศด้านการประมงและการเพาะเลี้ยงพันธุ์สัตว์น้ำ เพื่อการโภชนาการที่ดีของคนไทย จึงได้รับการถวายสมญานามว่า "พระประทีปแห่งการอนุรักษ์สัตว์น้ำของไทย" พระราชทานทุนให้แก่โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน เพื่อจัดหาอาจารย์ชาวต่างประเทศมาสอน ทรงพระราชทานเงินให้โรงพยาบาลแมคคอร์มิค เพื่อจัดซื้อเครื่องเอกซเรย์ และทรงพระราชทานเงินบำรุงโรงพยาบาลสงขลาเป็นรายปี
ในด้านการพยาบาล พระองค์ได้วางรากฐานการพยาบาลแผนใหม่ โดยทรงนำมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์เข้ามาให้ความช่วยเหลือในการปรับปรุงระบบการสอนของโรงเรียนพยาบาลผดุงครรภ์และอนามัยศิริราชซึ่งเป็นโรงเรียนพยาบาลแห่งแรกของประเทศไทย โดยให้พัฒนาไปพร้อมกับการปรับปรุงการศึกษาแพทย์ในปี พ.ศ. 2468 ด้วยการนำรูปแบบของโรงเรียนพยาบาลไนติงเกลมาใช้เพื่อปรับปรุงระบบการสอนให้ทันสมัย จัดทำหลักสูตรการพยาบาลแผนใหม่ให้มีมาตรฐานเทียบเท่ากับนานาอารยประเทศ พระราชทานทุนทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อให้ทุนพยาบาลไทยไปศึกษาต่อ ณ ต่างประเทศ ระหว่างปี พ.ศ. 2468-2478 จ้างครูพยาบาลอเมริกันมาช่วยสอนและทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนพยาบาล คือ มิส แอลิส ฟิทเจอราลด์ (Alice Fitzgerald) ระหว่าง พ.ศ. 2469-2470 และ มิส เอ็ม บี ปอร์เตอร์ (M. B. Porter) ระหว่าง พ.ศ. 2471-2478 โดยพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์เพิ่มเงินเดือนให้แก่ครูพยาบาลอเมริกันเพื่อให้เพียงพอแก่การครองชีพ พระราชทานที่ดินริมแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อจัดสร้างอาคารเรียนและหอพักนักเรียนพยาบาล ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ ทำให้นักเรียนและพยาบาลมีที่อยู่ที่เรียนที่เหมาะสม ซึ่งเป็นการช่วยชักจูงให้กุลสตรีไทยสนใจมาเข้าเรียนการพยาบาลเพิ่มมากขึ้น ทำให้วิชาการพยาบาลมีโอกาสพัฒนาตลอดมาเป็นอย่างดี